ผมบังเอิญเจอหนังสือเล่มนี้ครับ ซึ่งชื่อเรื่องคล้ายๆ กับที่ผมจะไปบรรยายให้กับ UPM Academy ในเรื่อง data driven organization พอดิบพอดี (ซึ่งผู้เข้าร่วมจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ครับ)

สำหรับหนังสือเล่มนี้เขียนโดยคุณ Richard Benjamins ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในบริษัท Telefónica ซึ่งเป็นบริษัท โทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศสเปนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยเนื้อหานั้นเขียนมาจากประสบการณ์ที่พบมาจริงๆ ครับ เลยกลายเป็นเหมือนเป็นแนวทาง (guidline) ในการบริหารงานภายในองค์กร ผมขอยกตัวอย่างสำคัญๆ บางเรื่องนะครับ
ผู้แต่งได้อธิบายว่าการเป็น data driven company นั้นต้องใช้เวลาหลายปีซึ่งผู้แต่งเรียกว่า data and AI journey ครับ (จากบริษัทที่เค้าทำงานก็เกือบ 10 ปี) โดยมีขั้นต่างๆ ของการก้าวขึ้นมาเป็น data driven company ดังนี้ครับ
- EXPLORATION เป็นขั้นตอนแรกของ journey และเป็นการเลือก use cases ที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้มาทำก่อนครับ
- TRANSFORMATION เป็นขั้นตอนของการเตรียมข้อมูลหรือเป็นการวางแผน (road map) เพื่อทำให้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในองค์กรครับ
- DATA-DRIVEN เป็นขั้นตอนที่บริษัทเริ่มทำการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยการใช้ข้อมูลเป็นตัวสนับสนุนครับ
- ARTIFICIAL INTELLIGENCE เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น Analytics, Machine Learning และ AI มาช่วยสร้างมูลค่าจากข้อมูลในองค์กรที่มีอยู่ครับ
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของฝ่าย data ที่ควรจะอยู่ตรงไหนในองค์กร เช่น ควรจะอยู่ภายใต้ CEO และนำเสนอโดยตรงเลย หรือ ควรจะอยู่ภายใต้ฝ่าย IT เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต่างๆ หรือ ควรจะอยู่ภายใต้ฝ่าย Marketing เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจของบริษัท ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันครับ
ในเรื่องของการของบประมาณ (funding) ก็ได้มีการอธิบายไว้ว่ามีแนวทางในการใช้งบประมาณของฝ่ายที่สนใจกับส่วนกลางบริษัทอย่างไรบ้าง เช่น ตอนเริ่มต้นงบประมาณจะเป็นของฝ่ายก่อนเพื่อทำโครงการที่เป็นลักษณะ POC (Proof Of Concept) หลังจากที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้วงบประมาณจะมาจากส่วนกลางของบริษัทเพื่อให้ได้ดำเนินงานต่อไปอย่างต่อเนื่องครับ
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบและเจอปัญหามาเหมือนกันคือเรื่องของการวัดผลครับว่าจะอ้างได้อย่างไรว่าโปรเจ็ค Data Analytics/AI ก่อให้เกิดรายได้หรือประสบความสำเร็จ เพราะในหลายๆ ครั้งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลก็จะต้องนำไปใช้ร่วมกับงานอื่นๆ เช่น การนำเสนอสินค้าก็ต้องมีเรื่องของการคิดโปรโมชัน (promotion) และเรื่องกราฟฟิกที่น่าสนใจ ดังนั้นการที่ลูกค้ามาซื้อสินค้าอาจจะไม่ได้มาจากผลการวิเคราะห์โดยตรงแต่อาจจะมาจากเป็นโปรโมชันที่ลูกค้าโดนใจก็เป็นได้
ในหนังสือเล่มนี้ก็ได้ยกตัวอย่างว่าให้ลองทำเป็นลักษณะของการเปรียบเทียบโดยที่แบ่งกลุ่มผู้สนใจออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งจะเลือกมาจากประสบการณ์ของคนเลือกเอง และอีกกลุ่มจะเป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลและเลือกมาครับ โดยที่ส่วนที่เหลือเช่น โปรโมชันหรือรูปกราฟฟิกจะมีลักษณะเหมือนกันเพื่อเป็นการควบคุมปัจจัยต่างๆ และดูว่าผลตอบรับของกลุ่มไหนดีกว่ากันครับ
สุดท้ายนี้ต้องขอบอกว่าผมเองก็ยังอ่านไม่จบเลยครับ แต่อ่านไปได้แล้วรู้สึกอยากมาเล่าให้ฟังก่อนครับ และก็หวังว่าคงจะพอมีประโยชน์กับผู้สนใจบ้างครับ
ถ้าสนใจหนังสือเล่มนี้หาซื้อได้ที่ร้านหนังสือ Asia Books นะครับ ^^